วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style)

รูปแบบการเรียนรู้ (Learning  Style)

          โลกยุคนี้เป็นยุคของความรู้และข้อมูลข่าวสาร  ผู้ใดมีความรู้และข้อมูลมากกว่าย่อมได้เปรียบกว่า  ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลที่เป็นความรู้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน   และทุก ๆ 5 ปีข้อมูลข่าวสารจะทวีขึ้นเป็น 2 เท่า   นอกจากนี้ยังไม่มีใครสามารถสอนความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้ให้แก่เราได้ทั้งหมด    โรงเรียนจึงควรเตรียมเด็ก ๆ และเยาวชนให้รู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง   เพื่อมิให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นกลายเป็นคนล้าหลัง และก้าวตามโลกไม่ทันภายหลังจากออกจากโรงเรียนแล้ว   การสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียนที่ถูกต้อง (Learn how to learn) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยครูต้องเข้าใจและตระหนักเป็นอันดับแรกว่า เด็กแต่ละคนมีรูปแบบหรือรูปแบบการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน  ครูที่สามารถรู้ว่าเด็กแต่ละคนในชั้นมีรูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบใดจะประสบความสำเร็จ ในการส่งผ่านความรู้ไปยังนักเรียน
ทำให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างเต็มความสามารถมากที่สุด
1.ความหมายของการเรียนรู้
การเรียนรู้ หมายถึง พัฒนาการรอบด้านของชีวิต มีองค์ประกอบ ปัจจัย และกระบวนการที่หลากหลาย มีพลังขับเคลื่อนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างผสมกลมกลืนได้สัดส่วน สมดุลกัน เกิดความสมบูรณ์ของชีวิตและสังคมการเรียนรู้ มีความหมายครอบคลุมถึงขั้นตอนต่อไปนี้คือ
          1)การรับรู้ (Reception) หมายถึง การที่ผู้คน รับเอาข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งรวมทั้งแหล่งความรู้จากครูผู้สอนด้วย
          2) การเข้าใจ (Comprehension) หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นถึงความหมายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรับรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลายในระดับที่สามารถอธิบายเชิงเหตุผลได้
          3) การปรับเปลี่ยน (Transformation) เป็นระดับของการเรียนรู้ที่แท้จริง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านวิธีคิด (Conceptualization) การเปลี่ยนแปลงระบบคุณค่า (Values) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior) ในสิ่งที่รับรู้และมีความเข้าใจแล้วเป็นอย่างดี
          จากการศึกษาค้นคว้าในประเทศเยอรมันพบว่า มนุษย์มีการเรียนรู้จากระบบต่างๆ ของร่างกายมากที่สุดถึงน้อยที่สุดดังนี้
                   ร้อยละ 83 เรียนรู้จากการดู, เห็น                             
                   ร้อยละ 11 เรียนรู้จากการดม
                   ร้อยละ 10 เรียนรู้จากการฟัง                         
                   ร้อยละ 2 เรียนรู้จากการสัมผัส
                   ร้อยละ 1 เรียนรู้จากการชิม
          จากผลการศึกษาค้นคว้าดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามนุษย์มีการเรียนรู้ด้วยตามากที่สุด เพราะฉะนั้นคนที่สามารถสร้างภาพที่เกิดจากความคิดของตนเองให้ผู้อื่นเห็นและเข้าใจภาพนั้นได้ จะได้เปรียบเพราะคนเห็นภาพนั้นก็จะจำความคิดนั้นได้นาน แต่ผลการรับรู้หรือการเรียนรู้นั้นจะคงทนถาวรหรือไม่นั้นอยู่ที่วิธีการได้มาซึ่งความรู้นั้นๆในการเรียนรู้ของบุคคลเรานั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีชีวิต และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการเรียนรู้ได้ดีที่สุดนั้นจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองหรือเป็นการเรียนรู้โดยประสบการณ์ตรงดังสุภาษิตที่กล่าวว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าลองทำดูซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยประสิทธิผลของการเรียนรู้ของบุคคลด้วยวิธีการต่างๆ 

2.รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์แบ่งตามลักษณะการรับข้อมูล
          รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์แบ่งตามลักษณะการรับข้อมูล พบว่ามนุษย์สามารถรับข้อมูลโดยผ่านเส้นทางการรับรู้ 3 ทางใหญ่ๆ  คือ การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น (Visual percepters)  การรับรู้ทางโสตประสาทโดยการได้ยิน (Auditory percepters)  และ การรับรู้ทางร่างกายโดยการเคลื่อนไหวและการรู้สึก (Kinesthetic percepters)   ซึ่งสามารถนำมาจัดเป็นประเภทของการเรียนรู้ได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ   ผู้เรียนรู้แต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันคือ
          2.1  ผู้ที่เรียนรู้ทางสายตา (Visual learner)   เป็นพวกที่เรียนรู้ได้ดีถ้าเรียนจากรูปภาพ    แผนภูมิ  แผนผังหรือจากเนื้อหาที่เขียนเป็นเรื่องราว   เวลาจะนึกถึงเหตุการณ์ใด ก็จะนึกถึงภาพเหมือนกับเวลาที่ดูภาพยนตร์คือมองเห็นเป็นภาพที่สามารถเคลื่อนไหวบนจอฉายหนังได้  เนื่องจากระบบเก็บความจำได้จัดเก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้เป็นภาพ   ลักษณะของคำพูดที่คนกลุ่มนี้ชอบใช้ เช่น   “ฉันเห็น”  หรือ “ฉันเห็นเป็นภาพ…..”
     พวก Visuallearner  จะเรียนได้ดีถ้าครูบรรยายเป็นเรื่องราว  และทำข้อสอบได้ดีถ้าครูออกข้อสอบในลักษณะที่ผูกเป็นเรื่องราว  นักเรียนคนใดที่เป็นนักอ่าน  เวลาอ่านเนื้อหาในตำราเรียนที่ผู้เขียนบรรยายในลักษณะของความรู้   ก็จะนำเรื่องที่อ่านมาผูกโยงเป็นเรื่องราวเพื่อทำให้ตนสามารถจดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น    เด็ก ๆ ที่เป็น Visual learner ถ้าได้เรียนเนื้อหาที่ครูนำมาเล่าเป็นเรื่อง ๆ จะนั่งเงียบ สนใจเรียน  และสามารถเขียนผูกโยงเป็นเรื่องราวได้ดี  ผู้ที่เรียนได้ดีทางสายตาควรเลือกเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม  หรือด้านการออกแบบ   และควรประกอบอาชีพมัณฑนากร  วิศวกร   หรือหมอผ่าตัด พวก Visual learner จะพบประมาณ 60-65 % ของประชากรทั้งหมด
          2.2 ผู้ที่เรียนรู้ทางโสตประสาท (Auditory  Learner)  เป็นพวกที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้าได้ฟังหรือได้พูด จะไม่สนใจรูปภาพ ไม่สร้างภาพ  และไม่ผูกเรื่องราวในสมองเป็นภาพเหมือนพวกที่เรียนรู้ทางสายตา   แต่ชอบฟังเรื่องราวซ้ำ ๆ   และชอบเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง   คุณลักษณะพิเศษของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ การมีทักษะในการได้ยิน/ได้ฟังที่เหนือกว่าคนอื่น   ดังนั้นจึงสามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลออ และรู้จักเลือกใช้คำพูด
ผู้เรียนที่เป็น Auditory learner  จะจดจำความรู้ได้ดีถ้าครูพูดให้ฟัง  หากครูถามให้ตอบ ก็จะสามารถตอบได้ทันที   แต่ถ้าครูมอบหมายให้ไปอ่านตำราล่วงหน้าจะจำไม่ได้จนกว่าจะได้ยินครูอธิบายให้ฟัง เวลาท่องหนังสือก็ต้องอ่านออกเสียงดังๆ    ครูสามารถช่วยเหลือผู้เรียนกลุ่มนี้ได้โดยใช้วิธีสอนแบบอภิปราย  แต่ผู้ที่เรียนทางโสตประสาทก็อาจถูกรบกวนจากเสียงอื่น ๆ จนทำให้เกิดความวอกแวก เสียสมาธิในการฟังได้ง่ายเช่นกัน ในด้านการคิด มักจะคิดเป็นคำพูด  และชอบพูดว่า  “ฉันได้ยินมาว่า……../ ฉันได้ฟังมาเหมือนกับว่า……”
พวก Auditory learner  จะพบประมาณ 30-35 % ของประชากรทั้งหมด และมักพบในกลุ่มที่เรียนด้านดนตรี  กฎหมายหรือการเมือง  ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี  พิธีกรทางวิทยุและโทรทัศน์   นักจัดรายการเพลง (disc jockey)    นักจิตวิทยา นักการเมือง  เป็นต้น
 2.3 ผู้ที่เรียนรู้ทางร่างกายและความรู้สึก (Kinesthetic  learner)  เป็นพวกที่เรียนโดยผ่านการรับรู้ทางความรู้สึก การเคลื่อนไหว และร่างกาย  จึงสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีหากได้มีการสัมผัสและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่เรียน   เวลานั่งในห้องเรียนจะนั่งแบบอยู่ไม่สุข  นั่งไม่ติดที่  ไม่สนใจบทเรียน  และไม่สามารถทำใจให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนเป็นเวลานาน ๆ ได้  คือให้นั่งเพ่งมองกระดานตลอดเวลาแบบพวก  Visual learner ไม่ได้ ครูสามารถสังเกตบุคลิกภาพของเด็กที่เป็น Kinesthetic learner  ได้จากคำพูดที่ว่า  “ฉันรู้สึกว่า……” 
        พวกที่เป็น Kinesthetic learner  จะไม่ค่อยมีโอกาสเป็นพวก Visual learner    จึงเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากหากครูผู้สอนให้ออกไปยืนเล่าเรื่องต่าง ๆ หน้าชั้นเรียน   หรือให้รายงานความรู้ที่ต้องนำมาจัดเรียบเรียงใหม่อย่างเป็นระบบระเบียบ  เพราะไม่สามารถจะทำได้    ครูที่ยังนิยมใช้วิธีสอนแบบเก่า ๆ อย่างเช่นใช้วิธีบรรยายตลอดชั่วโมง  จะยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหามากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าความรู้สึกของเด็กเหล่านี้ได้ถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น  ไม่ได้ผูกโยงกับอดีตหรือเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงในอนาคต   ครูจึงควรช่วยเหลือพวก Kinesthetic learner ให้เรียนรู้ได้มากขึ้น  โดยการให้แสดงออกหรือให้ปฏิบัติจริง  เช่น ให้เล่นละคร แสดงบทบาทสมมติ สาธิต ทำการทดลอง  หรือให้พูดประกอบการแสดงท่าทาง  เป็นต้น
          พวก Kinesthetic learner  จะพบในประชากรประมาณ 5-10 % เท่านั้น สาขาวิชาที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มนี้ได้แก่ วิชาก่อสร้าง  วิชาพลศึกษา  และควรประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างอาคาร  หรืองานด้านกีฬา เช่น เป็นนักกีฬา  หรือประเภทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์   งานที่ต้องมีการเต้น   การรำ  และการเคลื่อนไหว
การแบ่งประเภทการเรียนรู้ออกเป็น 3 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  เป็นการแบ่งโดยพิจารณาจากช่องทางในการรับรู้ข้อมูล ซึ่งมีอยู่ 3 ช่องทาง ได้แก่ ทางตา ทางหู และทางร่างกาย   แต่หากนำสภาวะของบุคคลในขณะที่รับรู้ข้อมูลซึ่งมีอยู่ 3 สภาวะ มารวมเข้าด้วยกัน จัดตามความหนักเบาจะสามารถแบ่งประเภทการเรียนรู้ออกได้ถึง 6 แบบ   คือ
          1)  ประเภท V-A-K   เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้อ่านและได้เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้อื่นฟัง  เป็นเด็กดีที่ขยันเรียนหนังสือ แต่ไม่ชอบเล่นกีฬา
          2)  ประเภท V-K-A  เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้ลงมือปฏิบัติตามแบบอย่างที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และได้ตั้งคำถามถามไปเรื่อย ๆ  โดยปกติจะชอบทำงานเป็นกลุ่ม
          3)  ประเภท A-K-V  เป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ดีที่สุดหากได้สอนคนอื่น  ชอบขยายความเวลาเล่าเรื่อง   แต่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน
          4)  ประเภท A-V-K   เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาติดต่อสื่อสารกับคนอื่น พูดได้ชัดถ้อยชัดคำ    พูดจามีเหตุมีผล   รักความจริง  ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาที่ต้องใช้ความคิดทุกประเภท  เวลาเรียนจะพยายามพูดเพื่อให้ตนเองเกิดความเข้าใจ  ไม่ชอบเรียนกีฬา 
          5) ประเภท K-V-A   เป็นผู้ที่เรียนได้ดีที่สุดหากได้ทำงานที่ใช้ความคิดในสถานที่เงียบสงบ
สามารถทำงานที่ต้องใช้กำลังกายได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องให้ครูคอยบอก  หากฟังครูพูดมาก ๆ อาจเกิดความสับสนได้
          6)  ประเภท K-A-V  เป็นผู้ที่เรียนได้ดีหากได้เคลื่อนไหวร่างกายไปด้วย เป็นพวกที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง  จึงถูกให้ฉายาว่าเป็นเด็กอยู่ไม่สุข  มักมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน ตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็น Auditory learner  จะมีปัญหาคือพูดมากที่สุดและมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนมากที่สุด

3.รูปแบบการเรียนรู้ตามลักษณะทางบุคลิกภาพ
การค้นหารูปแบบการเรียนรู้โดยใช้แบบสำรวจที่นักจิตวิทยาสร้างขึ้นในการให้ผู้เรียนสำรวจตนเอง    โดย แนวทางของ   Anthony  Grasha กับ Sheryl Riechmann  คือ สังเกตจาก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนและสังเกตจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับเพื่อนร่วมห้อง 
Grasha กับ Riechmann  ได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนตามลักษณะบุคลิกภาพของผู้เรียนออกเป็น ประเภท ได้แก่ แบบแข่งขัน  แบบร่วมมือ  แบบหลบหนี  แบบมีส่วนร่วม  แบบพึ่งผู้อื่น  แบบพึ่งตนเอง  รายละเอียดปรากฏในตารางนี้
   บุคลิกภาพ
   ของผู้เรียน
          รูปแบบการเรียนรู้
     กิจกรรมในชั้นเรียนที่ชอบ
1. แบบแข่งขัน
(Competitive)
1)  เรียนเนื้อหาเพื่อสอบให้ได้คะแนน
สูงกว่าคนอื่น
2)  แข่งขันกับผู้อื่นเพื่อหวังรางวัล
เช่น คะแนน ความรักจากครู ฯลฯ
3)  สถานการณ์ในชั้นเรียนมีลักษณะ
ชนะหรือแพ้ และ ฉันต้องชนะ
1)      ชอบเป็นผู้นำกลุ่มในการอภิปราย
หรือเป็นผู้นำโครงการ
2)      ชอบถามในชั้นเรียน
3)      หวังรางวัลหรือคำชมเชยคนเดียว
ในการทำกิจกรรมกลุ่ม
4)      ชอบห้องเรียนที่มีลักษณะเป็น
teacher-centered
2. แบบร่วมมือ
(Collaborative)
1)      เรียนได้ดีที่สุดและได้เนื้อหามาก
ที่สุดถ้าได้แบ่งปันความรู้กับเพื่อน
2)      ให้ความร่วมมือกับครูและเพื่อน
และชอบการร่วมมือ
3)  ห้องเรียนเป็นแหล่งปฏิสัมพันธ์
ทางสังคมและการเรียนรู้เนื้อหา
1)      ชอบการบรรยายในลักษณะที่
ผู้เรียนมีส่วนอภิปรายในกลุ่มย่อยด้วย
2)      ชอบให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเนื้อหา
ส่วนครูเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้
3)      ชอบให้เพื่อนเป็นผู้กำหนดเกรด
4)      ชอบคุยเรื่องราวในชั้นเรียนกับ
เพื่อน ๆ เวลาอยู่นอกห้องเรียน
3. แบบหลบหนี
(Avoidant)
1)      ผู้เรียนไม่สนใจรายวิชาที่ครูยัง
ใช้การสอนแบบดั้งเดิม
2)      ไม่ให้ความร่วมมือกับครูและ
เพื่อนในชั้นเรียน
3)      ไม่สนใจเรียนหรือบางครั้งก็ให้
ความสนใจจนเกินขอบเขต
1)     ชอบหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในชั้นเรียน
2)      ไม่ชอบการสอบ ชอบให้ประเมิน
ตนเองหรือใช้ระบบให้ทุกคนผ่านหมด
3)      ไม่ต้องการให้ครูมอบหมายงานให้
อ่านหรือค้นคว้า
4)      ไม่ชอบครูที่ตั้งใจหรือสนใจสอน
5)      ไม่ชอบให้ครูกับผู้เรียนปฏิสัมพันธ์
กันเป็นรายบุคคล
6)      ไม่ชอบครูที่เตรียมการบรรยายมา
เป็นอย่างดี
4. แบบมีส่วน
    ร่วม
(Participant)
1)      ต้องการเนื้อหาความรู้จากครูและ
ชอบเรียนหนังสือ
2)  รับผิดชอบในการค้นคว้าความรู้
นอกชั้นเรียนเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด
3)  ให้ความร่วมมือกับกลุ่มเมื่อได้รับ
มอบหมายงาน
1)      ชอบการบรรยายแบบอภิปราย
2)      ผู้เรียนต้องมีโอกาสอภิปรายด้วย
3)      ชอบการสอบที่มีข้อสอบทั้งแบบ
ปรนัยและอัตนัย
4)      ชอบให้ครูมอบหมายงานให้อ่าน
5)      ชอบครูที่มีความสามารถในการ
วิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาได้เป็นอย่างดี
5. แบบพึ่งผู้อื่น(Dependent)


1)      ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการเรียน
และจะเรียนเฉพาะที่ครูสอนเท่านั้น
2)      มองว่าครูกับเพื่อนเป็นแหล่งของ
ความรู้และเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ
3)  มองหาคนที่มีอำนาจสั่งการเพื่อ
ให้คำแนะนำและแนะแนวการเรียน
1)      ชอบให้ครูเขียนโครงร่างหรือจด
โน้ตย่อให้บนกระดานดำ
2)      ชอบให้ครูกำหนดเส้นตายในการส่งงาน
3)      ชอบห้องเรียนที่มีลักษณะเป็น
teacher-centered
6. พึ่งตนเอง(Independent)
1)      ชอบคิดเอง
2)      ชอบทำงานคนเดียวมากกว่า แต่
ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
ด้วย
3) จะเรียนเฉพาะเนื้อหาที่ตนคิดว่า
สำคัญเท่านั้น
4) เชื่อมั่นความสามารถในการเรียนรู้
ของตนเอง
1)      ชอบศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
และชอบสอนตนเอง
2)      ชอบเรียนเนื้อหาที่มีลักษณะเป็น
ปัญหาซึ่งผู้เรียนมีโอกาสคิดหาคำตอบ
ได้ด้วยตนเอง
3)      ชอบโครงการที่ผู้เรียนเป็นคนคิด
ออกแบบเอง
4)      ชอบห้องเรียนที่มีลักษณะเป็น
student-centered

4.ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูมและคณะ (Bloom et al, 1956)
          ได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน  คือ
                                 1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
                                 2. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
                                 3. ด้านเจตพิสัย (Affective Domain)
          4.1 พฤติกรรมทางพุทธิพิสัย  ระดับ ได้แก่
          1) ความรู้ความจำ ความสามารถในการเก็บรักษามวลประสบการณ์ต่าง ๆ จากการที่ได้รับรู้ไว้และ ระลึกสิ่งนั้นได้เมื่อต้องการเปรียบดังเทปบันทึกเสียงหรือวีดิทัศน์ ที่สามารถเก็บเสียงและภาพของเรื่องราวต่างๆได้  สามารถเปิดฟังหรือ ดูภาพเหล่านั้นได้  เมื่อต้องการ
          2) ความเข้าใจเป็นความสามารถในการจับใจความสำคัญของสื่อ และสามารถแสดงออกมาในรูปของการแปลความ ตีความ คาดคะเน ขยายความ หรือ การกระทำอื่น ๆ 
          3) การนำความรู้ไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปใช้ในกาแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้
          4) การวิเคราะห์ ผู้เรียนสามารถคิด หรือ แยกแยะเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อย เป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ และมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ความสามารถในการวิเคราะห์จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน
          5) การสังเคราะห์ ความสามารถในการที่ผสมผสานส่วนย่อย ๆ เข้าเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และดีกว่าเดิม อาจเป็นการถ่ายทอดความคิดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย การกำหนดวางแผนวิธีการดำเนินงานขึ้นใหม่ หรือ อาจจะเกิดความคิดในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้นมาในรูปแบบ หรือ แนวคิดใหม่
          6) การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตัดสิน ตีราคา หรือ สรุปเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ออกมาในรูปของคุณธรรมอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปตามเนื้อหาสาระในเรื่องนั้น ๆ หรืออาจเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับก็ได้

          4.2 จิตพิสัย (Affective Domain พฤติกรรมด้านจิตใจ)
          ค่านิยม ความรู้สึก ความซาบซึ้ง  ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจและคุณธรรม  พฤติกรรมด้านนี้อาจไม่เกิดขึ้นทันที ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้
 


          ด้านจิตพิสัย จะประกอบด้วย พฤติกรรมย่อย ๆ 5 ระดับ ได้แก่
1)      การรับรู้ ... เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อปรากฎการณ์ หรือสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการแปลความหมายของสิ่งเร้านั้นว่าคืออะไร แล้วจะแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
          2) การตอบสนอง ...เป็นการกระทำที่แสดงออกมาในรูปของความเต็มใจ ยินยอม และพอใจต่อสิ่งเร้านั้น ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดจากการเลือกสรรแล้ว
          3) การเกิดค่านิยม ... การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม การยอมรับนับถือในคุณค่านั้น ๆ หรือปฏิบัติตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกลายเป็นความเชื่อ แล้วจึงเกิดทัศนคติที่ดีในสิ่งนั้น
          4) การจัดระบบ ... การสร้างแนวคิด จัดระบบของค่านิยมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์
ถ้าเข้ากันได้ก็จะยึดถือต่อไปแต่ถ้าขัดกันอาจไม่ยอมรับอาจจะยอมรับค่านิยมใหม่โดยยกเลิกค่านิยมเก่า
          5) บุคลิกภาพ ... การนำค่านิยมที่ยึดถือมาแสดงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยประจำตัว ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามพฤติกรรมด้านนี้ จะเกี่ยวกับความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งจะเริ่มจากการได้รับรู้จากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ขยายกลายเป็นความรู้สึกด้านต่าง ๆ
จนกลายเป็นค่านิยม และยังพัฒนาต่อไปเป็นความคิด อุดมคติ ซึ่งจะเป็นควบคุมทิศทางพฤติกรรมของคนคนจะรู้ดีรู้ชั่วอย่างไรนั้น ก็เป็นผลของพฤติกรรมด้านนี้

          4.3 ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain พฤติกรรมด้านกล้ามเนื้อประสาท)
 พฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ  ซึ่งแสดงออกมาได้โดยตรงโดยมีเวลาและคุณภาพของงานเป็นตัวชี้ระดับของทักษะ พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย ประกอบด้วย พฤติกรรมย่อย ๆ 5 ขั้น ดังนี้
 
          1)       การรับรู้ ... เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ เป็นการเลือกหาตัวแบบที่สนใจ
          2)       กระทำตามแบบ หรือ เครื่องชี้แนะ ... เป็นพฤติกรรมที่ผู้เรียนพยายามฝึกตามแบบที่ตนสนใจและพยายามทำซ้ำ เพื่อที่จะให้เกิดทักษะตามแบบที่ตนสนใจให้ได้ หรือ สามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อแนะนำ
          3)       การหาความถูกต้อง พฤติกรรมสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชี้แนะ  เมื่อได้กระทำซ้ำแล้ว  ก็พยายามหาความถูกต้องในการปฏิบัติ
          4)      การกระทำอย่างต่อเนื่องหลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เป็นของตัวเองจะกระทำตามรูปแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง จนปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง คล่องแคล่ว  การที่ผู้เรียนเกิดทักษะได้  ต้องอาศัยการฝึกฝนและกระทำอย่างสม่ำเสมอ
          5)      การกระทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ พฤติกรรมที่ได้จากการฝึกอย่างต่อเนื่อง
จนสามารถปฏิบัติ ได้คล่องแคล่วว่องไวโดยอัตโนมัติ เป็นไปอย่างธรรมชาติ
ซึ่งถือเป็นความสามารถของการปฏิบัติในระดับสูง


บรรณานุกรม

ทศพร แสงสว่าง. “การเรียนรู้ของมนุษย์” นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัย
          เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. กรุงเทพ.2552(ออนไลน์) (ออนไลน์)เข้าถึงได้ 
          จาก
: https://2educationinnovation.wikispaces.com/การเรียนรู้ของมนุษย์
          (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2559).

ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2545
มัณฑรา
  ธรรมบุศย์. ลีลาการเรียนรู้ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก: http://portal.edu.chula.ac.th/
          girl/blog/view.php?Bid=1245038152800790 (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2559).
สุรางค์ โค้วตระกูล. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2544  เข้าถึงได้จาก:
          http://www.kroobannok.com/article-35946-ทฤษฎีการเรียนรู้.html.
          (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2559).
อนันต์ศักดิ์  สร้างคำ.ทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม. อุบลราชธานี.2554 (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
:  
         
https://sites.google.com/site/anansak2554/thvsdi-kar-reiyn-ru-khx-ngblum
          (วันที่ค้นข้อมูล 25 กรกฎาคม 2559).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น